การใช้ยาฉีดอาจไม่ได้มีแต่ผลดีอย่างที่คิด
ยาฉีดเป็นยาที่ใช้นำเข้าสู่ร่างกายโดยการฉีดเพื่อให้ได้ผลเร็วขึ้น ซึ่งมีวิธีการฉีดอยู่ 6 วิธีด้วยกันคือ ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ฉีดเข้าผิวหนัง ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ฉีดเข้าข้อ และฉีดเข้าช่องไขสันหลัง มีผู้เข้าใจผิดเกี่ยวกับยาฉีด โดยนิยมฉีดยามากกว่ากินยาเพราะคิดว่าหายเร็วกว่า ขี้เกียจกินยา หรือเพราะเชื่อตามคำชักชวนของผู้ที่ฉีดยาให้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหมอเถื่อน ที่จริงแล้วการฉีดยามีข้อบ่งใช้ยาฉีดที่สำคัญเพียง 4 ข้อคือ

- ผู้ป่วยไม่สามารถกินยาได้
- ผู้ป่วยอาการหนัก ต้องการยาอย่างรีบด่วน
- ต้องให้ของเหลวแก่ร่างกาย เช่น น้ำเกลือ เลือด เป็นต้น
- ไม่มียาสำหรับกิน มีแต่ยาฉีดเท่านั้น
ดังนั้นถ้าไม่ใช่ด้วยเหตุผลทั้ง 4 ประการนี้แล้วไม่ควรใช้ยาฉีด การกินยาจะปลอดภัยกว่า

การใช้ยาฉีดโดยไม่จำเป็นมีข้อเสียหลายประการคือ
- ยาฉีดทุกชนิดมีอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาที่ต้องฉีดเข้าหลอดเลือดดำ
- ราคาแพงกว่ายากิน
- อาจติดเชื้อที่ลอยแผลฉีดยาเพราะเข็มไม่สะอาด เอเชียร้ายแรงอื่นๆเช่น ไวรัสตับอักเสบบี HIV เป็นต้น
- แพ้ง่ายกว่าวิธีกิน และเกิดอาการแพ้อย่างเฉียบพลันอาจจะหัวใจวายตายได้
- ผู้ฉีดไม่มีความชำนาญหรือความรู้เพียงพอ อาจฉีดที่ผิดวิธีทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เช่น ยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำถ้าเดินยาเร็วเกินไปอาจทำให้ช็อคได้ เป็นต้น
- ยาประเภทที่เข้าน้ำมัน มักจะทำให้เป็นฝีและมีหนองที่รอยฉีด
ภาพโดย Arek Socha จาก Pixabay
การฉีดยามีทั้งคุณและโทษ
จึงควรเป็นหน้าที่ของแพทย์ที่จะพิจารณาว่าควรจะฉีดยาให้หรือไม่ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีความจำเป็นที่จะต้องฉีดยาน้อยมาก หรือไม่มีความจำเป็นเลย โดยทั่วไปแล้วมักใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการหนัก ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ การผ่าตัด หรือการคลอดบุตร ผู้ป่วยที่ไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาตามโรงพยาบาลต่างๆ ที่เป็นผู้ป่วยนอก คือไม่ต้องอยู่รักษาในโรงพยาบาลไม่จำเป็นต้องใช้ยาฉีด ดังนั้นจึงไม่ควรเสนอแนะให้หมอฉีดยาให้แทนการกินยา ไม่ควรฉีดยาด้วยหมอเถื่อน และไม่ควรซื้อยามาฉีดกันเอง เพราะอาจจะเกิดอันตรายถึงชีวิตได้
